Rss Feed


โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมา

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในเขต อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่โครงการ ๘,๕๐๐ ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลอง วิจัย หารูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ โดยให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งแนวพระราชดำริสรุปได้ดังนี้

- ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของมนุษย์
- ให้ศึกษาการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
- ให้ศึกษาระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน
- ให้การศึกษาพัฒนาด้านโคนมโดยเฉพาะเรื่องที่จะสามารถนำมาปฏิบัติในท้องถิ่นได้ เป็นการเชื่อมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย กับการปฏิบัติของเกษตรกร และคำนึงถึงเรื่องการตลาดเป็นสำคัญ รวมทั้งจัดพื้นที่เลี้ยงโคไม่ให้มีจำนวนโคนมมากเกินไปด้วย
- ให้มีการศึกษาการพัฒนาการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นภาคเหนือ รวมทั้งจัดพื้นที่ สาธิตทดลองเพื่อพัฒนาการเกษตร แล้วศึกษารูปแบบที่ราษฎรสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับพอมีพอกินจนถึง ระดับมีกินมีใช้
- ให้ศึกษาการพัฒนาการประมง และด้านเกษตรอุตสาหกรรม
และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม ให้มีการขยายบริการของศูนย์ฯ สู่ราษฎรบริเวณรอบศูนย์


ทั้งนี้ ศูนย์การศึกษาพัฒนาได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๕ ในตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่พื้นที่โครงการ ๓๗,๕๕๑ ไร่ จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน ๑,๓๖๗ ครัวเรือน ซึ่งศูนย์ได้ทำการศึกษาพื้นที่ต้นน้ำให้ได้ผลสมบูรณ์ ครบวงจร โดยกำหนดต้นทางเป็นการศึกษาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านประมง มีกิจกรรมที่ดำเนินการหลายประเภทได้แก่ งานพัฒนาแหล่งน้ำ งานพัฒนาที่ดิน งานทดสอบพืช งานเกษตรกรรม อุตสาหกรรม งานปศุสัตว์ งานโคนม งานส่งเสริมการเกษตร ในหมู่บ้านรอบศูนย์ เพื่อนำผลการศึกษาด้านต่าง ๆ มาประยุกต์เป็นวิทยาการอย่างง่าย ๆ และส่งเสริมให้ราษฎรนำไปใช้ในลักษณะของกิจกรรมแบบผสมผสานในพื้นที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพหลักการเกษตร ส่งเสริมด้านการเกษตรอุตสาหกรรม และด้านส่งเสริมการสหกรณ์


วัตถุประสงค์

๑. เพื่อนำผลการศึกษา และวิจัยการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ที่เหมาะสม มาขยายผลสู่หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์
๒. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการอบรม และเผยแพร่การศึกษาให้แก่ส่วนราชการ และเกษตรกรทั่วไป
๓. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการให้สูงขึ้นสามารถดำรงชีพได้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น

การดำเนินงานในส่วนสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการในลักษณะเตรียมองค์กรของชาวบ้าน เพื่อรองรับงานบริการ ผลการศึกษาของศูนย์การพัฒนาห้องฮ่องไคร้ อันได้แก่งานต่อไปนี้
๑. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ในหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ และการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ แก่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์
๒. จัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ในหมู่บ้าน เพื่อดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ตามความต้องการของสมาชิก
๓. รวมกลุ่มแม่บ้านรอบบริเวณศูนย์ เพื่อให้การศึกษาอบรม ให้ความรู้ ความเข้าใจในการร่วมแก้ไข ปัญหาในรูปแบบของระบบสหกรณ์
ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ในพื้นที่โครงการ แล้ว ๒ สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรแม่โป่ง จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหิรัญญาวาสพัฒนา จำกัด โดยมีรายละเอียดพอสรุปได้ ดังนี้


๓.๑ สหกรณ์การเกษตรแม่โป่ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ จำนวนสมาชิก ๑๕๑ คน ปัจจุบัน (๓๐ มิ.ย. ๓๘) มีสมาชิก ๒๑๗ คน มีทุนดำเนินงาน ๗๒๙,๑๙๒ บาท แบ่งเป็นเงินสำรอง ๔,๕๖๕ บาท ทุนเรือนหุ้น ๑๓,๕๐๐ บาท ในรอบปีได้ดำเนินธุรกิจซื้อ ๑๒๘,๘๓๒ บาท มีกำไร ๒๓,๘๖๓ บาท
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มแม่บ้านแปรรูปอาหาร "กลุ่มแม่บ้านอาคารแปรรูปอาหารที่ ๑" สมาชิก ๑๗๖ คน ทุนดำเนินงาน ๔๕,๖๓๕ บาท เงินสำรอง ๗,๒๓๖ บาท ทุนเรือนหุ้น ๒๗,๘๕๐ บาท ธุรกิจซื้อ ๒๐๙,๙๒๔ บาท กำไร ๕,๕๔๘ บาท
"กลุ่มแม่บ้านอาคารแปรรูปอาหารที่ ๒" มีสมาชิก ๑๕๓ คน มีทุนดำเนินงาน ๕๑,๐๖๗ บาท เงินสำรอง ๓,๔๘๔ บาท ทุนเรือนหุ้น ๑๗,๙๕๐ บาท ธุรกิจซื้อ ๒๖๔,๓๘๙ บาท กำไรสุทธิ ๒๔,๓๐๖ บาท
"กลุ่มสตรีสหกรณ์" มีสมาชิก ๕๐ คน มีธุรกิจขายทั้งปี ๘๖๖,๐๓๕ บาท กำไรประจำปี ๒๑,๓๐๙ บาท ซึ่งเป็นสินค้าทั่วไป
๓.๒ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหิรัญญาวาสพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๔ สมาชิก ๕๕ คน ทุนเรือนหุ้นครั้งแรก ๓๖,๗๐๐ บาท ปัจจุบันสมาชิกมีการออมเงินทุกเดือนโดยนำมาฝากไว้กับสหกรณ์และให้สมาชิกกู้ยืมเมื่อถึงเวลาจำเป็นส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มแม่บ้านสหกรณ์ เช่น การทำกล่องจากกระดาษสา กรอบรูปกระดาษสา และไม้กวาด เพื่อเสริมรายได้ให้สมาชิก ปัจจุบันเยาวชนหนุ่มสาวอยู่กับบ้านไม่ต้องออกไปรับจ้างในเมืองหรือเข้ากรุงเทพฯ เหมือนในอดีต


ที่มา http://web.ku.ac.th/king72/2526/hongkrai.htm วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553